No. 160
กล้าที่จะถูกเกลียด(1)
อัลเฟรด แอดเลอร์ จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ได้เสนอทฤษฎีจิตวิทยาปัจเจกบุคคล(Individual Psychology) ซึ่งเหมาะกับการแก้ปัญหาและพัฒนาการดำเนินชีวิตในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างดีมากจริงๆ
คิชิมิ อิชิโร นักปรัชญาและจิตวิทยา โคะกะ ฟุมิทะเกะ นักเขียนอิสระ ทั้งคู่เป็นชาวญี่ปุ่น อายุต่างกัน 17 ปี แต่สนใจจิตวิทยาแบบแอดเลอร์เหมือนกัน จึงร่วมกันถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือที่ขายดีระดับท๊อปทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลี
1. “แผลใจไม่มีอยู่จริง” จงกล้าเปลี่ยนแปลง และดำเนินชีวิตโดยไม่ยอมให้อดีตมาครอบงำ:
ชีวิตของคนเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ถูกกำหนดโดยความหมายที่ตัวเรามอบให้แก่ประสบการณ์นั้นมากกว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการในปัจจุบัน เราเลือกไลฟ์สไตล์แบบนี้ด้วยตัวเราเอง
2. ความทุกข์ใจทั้งหมดล้วนเกิดจาก “ความสัมพันธ์กับผู้คน”:
ใช้ชีวิตที่เป็นอิสระในแบบที่ตัวเราต้องการ ไม่ต้องแข่งขันหรือเปรียบเทียบกับใคร แค่มุ่งที่จะก้าวไปข้างหน้า เลิกปรารถนาการยอมรับ เลิกใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น เลิกกังวลว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร ไม่ก้าวก่ายธุระของคนอื่น และไม่ยอมให้คนอื่นมาก้าวก่ายธุระของเรา (กล้าที่จะถูกเกลียด)
3. เป้าหมายด้านพฤติกรรมคือ “พึ่งพาตัวเองได้” และ “ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดี”:
นั่นหมายถึงเราต้องรู้สึกให้ได้ก่อนว่า ตัวเองมีความสามารถ และทุกคนเป็นมิตรของเรา ยอมรับตัวเอง เชื่อใจคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่น
4. จงยอมรับตัวเอง ไม่ใช่มั่นใจตัวเอง:
กล้าที่จะเป็นคนธรรมดา ยอมรับว่าตัวเองทำไม่ได้ ในเรื่องที่ทำไม่ได้จริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็พัฒนาตัวเองให้สามารถทำสิ่งนั้นได้ในที่สุด ไม่มอง “สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้” แต่หันไปสนใจ “สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้”
5. จงใช้ชีวิตให้เหมือนการเต้นรำ:
ชีวิตคนเราคือจุดที่เชื่อมต่อกัน เหมือนการเต้นรำที่ออกจากจุดเริ่มต้น แล้วเต้นตามจังหวะเพลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละวินาที ไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน ขอแค่เราทุ่มเทให้กับ “วินาทีนี้” อย่างสุดกำลังก็พอแล้ว
แนวคิดแบบแอดเลอร์น่าสนใจมากๆ ผมว่ามันเวิร์คจริงๆครับ เพื่อนๆลองนำไปใช้ดูได้เลยครับ
รักจากหมอคิม
18 กรกฎาคม 2562